ราชกิจจานุเบกษา

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้การเช่าซื้อรถยนต์-จยย. คิดดอกเบี้ยลดต้นลดดอก

ราชกิจจานุเบกษา

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 ประกอบกับมาตรา 3 มาตรา 4 และมาตรา 5 แห่ง พ.ร.ฎ.กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญาและลักษณะของสัญญา พ.ศ.2542 โดยจะมีผลบังคับใช้หลังพ้นกำหนด 90 วันนับแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา (12 ต.ค.65) เป็นต้นไป

โดยประกาศดังกล่าวมีสาระสำคัญ ได้แก่

1.การกำหนดสินเชื่อเช่าซื้อในลักษณะของการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นคงเหลือในแต่ละงวดตามกลไกตลาด โดยคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงต่อปี

  • กรณีรถยนต์ใหม่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบต่อปี
  • กรณีรถยนต์ใช้แล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี
  • กรณีรถจักรยานยนต์ต้องไม่เกินอัตราร้อยละยี่สิบสามต่อปี

ทั้งนี้ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาอาจปรับเปลี่ยนให้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในทุกสามปี

2.กรณีผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวดสามงวดติดๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้ค่าเช่าซื้อรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อย 30 วันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือและผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้

3.ก่อนนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ออกขายโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาดที่เหมาะสม

  • ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อให้ผู้เช่าซื้อใช้สิทธิซื้อก่อนภายในระยะเวลา 20 วัน ได้ตามมูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ
  • ผู้ให้เช่าซื้อต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วันก่อนวันประมูลหรือวันขายทอดตลาด พร้อมระบุชื่อผู้ทำการขาย วัน และสถานที่ที่ทำการขาย, ห้ามปรับลดราคาเว้นแต่จะได้มีหนังสือแจ้งราคาที่จะปรับลดนั้นให้ผู้เช่าซื้อและผู้ค้ำประกันทราบก่อน, หากได้ราคาเกินกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อต้องคืนเงินส่วนที่เกินให้แก่ผู้เช่าซื้อ แต่ถ้าได้ราคาน้อยกว่ามูลหนี้ส่วนที่ขาดอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดในส่วนที่ขาด, ผู้ให้เช่าซื้อต้องไม่เข้าสู้ราคาไม่ว่าโดยวิธีประมูลหรือวิธีขายทอดตลาด

4.กรณีผู้เช่าซื้อประสงค์จะขอชำระเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมดในคราวเดียว เพื่อปิดบัญชีค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อจะต้องให้ส่วนลด

  • กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่เกินหนึ่งในสามของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 60% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
  • กรณีชำระค่างวดมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามแต่ไม่เกินสองในสามของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดในอัตราไม่น้อยกว่า 70% ของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
  • กรณีชำระค่างวดมาแล้วเกินกว่าสองในสามของค่างวดเช่าซื้อที่ระบุไว้ในสัญญาให้ได้รับส่วนลดทั้งหมดของดอกเบี้ยเช่าซื้อที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

ราชกิจจาฯ ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอัตราใหม่มีผล 1 ตุลาคมนี้

ราชกิจจานุเบกษา

วันที่ 19 กันยายน 65 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ด้วยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2565 และมีมติเห็นชอบ

ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79 (๓) และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2551 คณะกรรมการค่าจ้าง จึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

  • ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2562
  • ข้อ 2 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยห้าสิบสี่บาท ในท้องที่จังหวัดชลบุรี ภูเก็ต และระยอง
  • ข้อ 3 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยห้าสิบสามบาท ในท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  • ข้อ 4 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา
  • ข้อ 5 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบสามบาท ในท้องที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  • ข้อ 6 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสี่สิบบาท ในท้องที่จังหวัดกระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี
  • ข้อ 7 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบแปดบาท ในท้องที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม
  • ข้อ 8 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์
  • ข้อ 9 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยสามสิบสองบาท ในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และอุทัยธานี
  • ข้อ 10 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละสามร้อยยี่สิบแปดบาท ในท้องที่จังหวัดนราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี
  • ข้อ 11 เพื่อประโยชน์ตามข้อ 2 ถึงข้อ 10 คำว่า “วัน” หมายถึง เวลาทำงานปกติของลูกจ้าง ซึ่งไม่เกินชั่วโมงทำงานดังต่อไปนี้ แม้นายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานน้อยกว่าเวลาทำงานปกติเพียงใดก็ตาม
    • (1) เจ็ดชั่วโมง สำหรับงานที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้าง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
      พ.ศ. 2541
    • (2) แปดชั่วโมง สำหรับงานอื่นซึ่งไม่ใช่งานตาม (1)
  • ข้อ 12 ห้ามมิให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเป็นเงินแก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
  • ข้อ 13 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2565
    เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานกรรมการค่าจ้าง